วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2558

กลยุทธ์ในการเรียนภาษาอังกฤษ


กลยุทธ์ในการเรียนภาษาอังกฤษ
การเรียนรู้ภาษาอังกฤษมีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ในอดีตภาษาอังกฤษไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรเพราะไม่มีโอกาสพบเห็นและใช้ภาษาอังกฤษมากเหมือนกับสมัยปัจจุบัน แต่คนในอดีตเป็นจำนวนมากสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี เนื่องด้วยความขยัน ตั้งใจใฝ่เรียน ซึ่งแตกต่างกับปัจจุบัน  นักเรียนส่วนใหญ่ในทุกระดับยังไม่รู้ภาษาอังกฤษพอที่จะฟัง พูด อ่าน เขียน และแปล ทั้งที่เป็นยุคภาษาอังกฤษกำลังเฟื่องฟู มีการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระบบที่หลากหลายลักษณะยิ่งขึ้นกว่าเดิม เกิดมีโรงเรียนสองภาษา และโรงเรียนสามภาษา มีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการจัดการเรียนการสอน ง่ายต่อการเรียนรู้ รวมไปถึงสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย ใช้งานง่าย สะดวกรวดเร็ว แต่กลับกลายเป็นว่า นักเรียนในอดีตมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถที่จะฟัง พูด อ่าน เขียน และแปลภาษาอังกฤษได้ดีกว่าคนสมัยปัจจุบัน เหตุเช่นใดคนสมัยนี้จึงอ่อนภาษาอังกฤษกว่าคนสมัยอดีต  ปัญหานี้เกิดมาจากอะไรและมีกลยุทธ์ในการเรียนภาษาอังกฤษอย่างไรให้เกิดผล

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือนักเรียนส่วนใหญ่ในทุกระดับยังไม่รู้ภาษาอังกฤษพอที่จะฟัง พูด อ่าน เขียน และแปลภาษาอังกฤษ ซึ่งปัญหานี้มาจากปัจจัยหลายๆอย่าง คนส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่เหตุปัจจัยภายนอกตัวผู้เรียน ได้แก่ ครูผู้สอน ตำรา สถานศึกษา การจัดการเรียนการสอน นโยบายของรัฐ สภาพแวดล้อมทางสังคม ปัจจัยเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญเนื่องจากใกล้ชิดกับนักเรียนมากโดยเฉพาะครูผู้สอน กล่าวคือครูผู้สอน ขาดความรู้ความชำนาญในการใช้ภาษา และขาดวิธีสอนที่ได้ผล จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ครูผู้สอนไม่ได้จบเอกภาษาอังกฤษโดยตรง แต่มาสอนวิชาภาษาอังกฤษทำให้ครูไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ เนื่องจากไม่เข้าใจในวิชาที่สอน บางครั้ง ครูจบออกมาแบบไม่มีความรู้มากพอที่จะมาถ่ายทอดให้นักเรียนเข้าใจได้ ปัจจัยต่อมาคือ ตำรา แบบเรียน และสื่อการเรียนการสอนยังขาดคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน มีข้อผิดพลาด บกพร่อง ไม่น่าสนใจ ไม่นำไปสู่การเรียนรู้ให้เกิดทักษะในการใช้ภาษาอย่างแท้จริง ดิฉันคิดว่าสื่อการเรียนการสอนในปัจจุบันบางครั้งไม่ตรงกับความต้องการของนักเรียน เช่น สื่อการเรียนการสอนใช้งานยาก หรือบางครั้งสื่อการเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพ  ปัจจัยต่อมา คือ สถานศึกษาและการจัดการเรียนการสอน คือจัดหลักสูตรโดยให้สัดส่วนแก่ภาษาอังกฤษน้อยเกินไปทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือก และห้องเรียนมีขนาดใหญ่เกินไป ปัจจัยนี้ถือว่าสำคัญเช่นกัน สถานศึกษาไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญของการเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งในการเรียนภาษาอังกฤษทั้งวิชาทักษะและวิชาที่เป็นความรู้ ถ้าสถานศึกษาจัดเวลาเรียนในวิชาภาษาอังกฤษน้อย นักเรียนจะเรียนรู้น้อย ซึ่งในความเป็นจริงวิชาภาษาอังกฤษต้องเรียนรู้ให้มาก ปัจจัยต่อมา คือ สภาพแวดล้อมทางสังคมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ เนื่องจากคนส่วนใหญ่คิดว่าภาษาอังกฤษไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ เมื่อคนส่วนใหญ่คิดแบบนี้ ทำให้ไม่เห็นคุณค่าของภาษาอังกฤษ ทั้งที่ภาษาอังกฤษมีความสำคัญมาก ณ.เวลานี้ กำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ภาษาอังกฤษจำเป็นต้องใช้ในชีวิตจริง เพื่อสามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ เช่น มาเลเซีย  สิงค์โปร อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย อเมริกา อังกฤษ แคนาดา เป็นต้น   ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นต้องยอมรับว่ามีส่วนจริงอยู่ไม่มากก็น้อย แต่ปัจจัยข้างต้นเป็นปัจจัยภายนอกที่ยากแก่การแก้ไข เป็นปัญหาที่หมักหมมมานานและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องผู้สอน สื่อการเรียนการสอน และการบริหารจัดการ ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง  ถึงแม้ว่าระบบการศึกษาภาษาอังกฤษจะอ่อนแอ แต่มีนักเรียนนักศึกษาบางส่วนที่สามารถฟัง พูด อ่าน เขียนและแปลภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี
เราจะเห็นนักเรียนนักศึกษาส่วนหนึ่งที่ฟัง พูด อ่าน เขียน และแปลภาษาอังกฤษได้ดี เนื่องจากพวกเขามีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษในสถานการณ์จริง ได้ศึกษาจากครูอาจารย์ที่มีความรู้ความชำนาญ ตลอดจนได้เรียนรู้จากสื่อรอบตัวประเภทที่มีคุณภาพมาตรฐาน ส่วนปัจจัยภายในคือ เป็นผู้มีความถนัดในการเรียนภาษา นักเรียนนักศึกษาเหล่านี้มีโอกาสได้ใช้ภาษาในสถานการณ์จริง เนื่องจากได้คบหาคลุกคลีกับเจ้าของภาษามากพอ บางคนไม่ได้เรียนหนังสือมาแต่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการพูดภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันทำให้ได้ภาษาไปโดยธรรมชาติ ยกตัวอย่าง แม่ค้าที่ไม่ได้รับการศึกษา แต่สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้อย่างเข้าใจ ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งถ้าเรามีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษในสถานการณ์จริง เราสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้อย่างรวดเร็วและจะไม่มีวันลืม เนื่องด้วย การที่คนเราได้ลงมือปฏิบัติ ลองผิดลองถูกจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี เพราะเมื่อเราพูดไม่ถูกต้อง ฝรั่งจะแก้ประโยคให้เรา และเราจะเกิดการจดจำระยะยาว  เราสามารถสังเกตได้จากพนักงานโรงแรม มักคุเทศน์  แอร์โฮสเตส เป็นต้น คนเหล่านี้สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ เนื่องจากได้ใช้จริงในชีวิตประจำวัน เพราะบางครั้งถ้าหากเรียนอย่างเดียวแต่ไม่ได้ลงสนามจริง การเรียนรู้ก็จะไม่เกิด   ปัจจัยภายนอก ต่อมาคือ นักเรียนนักศึกษาบางคนได้ศึกษาจากครูอาจารย์ที่มีความรู้ความชำนาญ ตลอดจนได้เรียนรู้จากสื่อรอบตัวประเภทที่มีคุณภาพมาตรฐาน  ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง อย่างเช่น การเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนนานาชาติจะเรียนดีกว่าการเรียนของนักเรียนที่เรียนโรงเรียนรัฐบาล แต่ปัจจัยภายนอกในส่วนนี้อย่างเดียวก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้นักเรียนสามารถฟัง พูด อ่าน และเขียนภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี ส่วนปัจจัยภายในคือ เป็นผู้มีความถนัดในการเรียนภาษา มีเจตคติที่ดีต่อภาษาที่เรียน มีแรงจูงใจใฝ่เรียนสูง จริงอยู่ที่ คนเราจะเก่งภาษาอังกฤษได้ต้องอาศัยหลายๆปัจจัยประกอบกัน มิใช่เพียงเหตุผลเดียวดังที่คนส่วนใหญ่ทึกทัก  เมื่อปัจจัยภายนอกไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของเรา เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้แล้ว เราต้องยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น และควรปรับเปลี่ยนท่าทีเสียใหม่  ณ.ตอนนี้เราต้องหันกลับมาพึ่งพาตนเองเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งเราจะต้องดูตัวอย่างคนที่ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ด้วยตัวเองว่าเขามีเทคนิค วิธีการเรียน หรือกลยุทธ์ต่างๆอย่างไร โดยเราต้องมีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนเพื่อเราสามารถพิชิตภาษาอังกฤษได้
ระเบียบแบบแผนมีขั้นตอนสำคัญอยู่ 4 ข้อ ซึ่งระเบียบแบบแผนนี้มีความสำคัญเปรียบเสมือนเข็มทิศที่คอยบอกว่าต้องทำอย่างไร แบบแผนมีขั้นตอนดังนี้ 1. กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย  2.รู้จักจัดเตรียม และแสวงหาแหล่งความรู้  3.พัฒนากลยุทธ์การเรียน 4.ลงมือปฏิบัติ เป้าหมาย  ในขั้นของกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายต้องกำหนดให้ชัดเจน คือ สามารทำอะไรได้แค่ไหน ภายในกรอบเวลาใด เช่น ภายใน 6 เดือน สามารถสนทนาขั้นพื้นฐานกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ (เช่น สอบถามความต้องการ ให้คำแนะนำ บอกทาง  ฯลฯ) สามารถเรียนศัพท์ใหม่ (วิธีออกเสียง ความหมาย วิธีใช้คำในประโยค ฯลฯ) ทั้งนี้ต้องให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เพราะถ้าเราตั้งเป้าหมายไว้เกินความเป็นไปได้ อาจล้มเหลวได้ เมื่อกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายได้แล้ว ก็ต้องรู้จัก จัดเตรียม และเสาะหาสื่อและแหล่งความรู้ที่เอื้อต่อการฝึกทักษะด้วยตนเอง เช่น วิทยุคลื่นสั้นเพื่อการรับฟังข่าวสารจากต่างประเทศโดยตรง หรือวิทยุสถานีในประเทศที่ถ่ายทอดข่าวจากต่างประเทศ  วิทยุคลื่นสั้นเพื่อการรับฟังข่าวสารจากต่างประเทศโดยตรง หรือวิทยุสถานีในประเทศที่ถ่ายทอดข่าวจากต่างประเทศ แหล่งท่องเที่ยว เพื่อโอกาสที่จะสนทนากับนักท่องเที่ยว หรือสถานที่ทำงานสำหรับผู้ที่มีเพื่อนร่วมงานเป็นชาวต่างชาติ หนังสือพิมพ์รายวัน และนิตยาสารรายสัปดาห์เพื่ออ่านข่าวและบทความ ห้องสมุด และศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองในสถานศึกษา เพื่อการอ่านและกิจกรรมการเรียนอื่นๆ ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัย และร้านหนังสือที่จำหน่ายหนังสือต่างประเทศ เพื่อซื้อหาตำรา แบบเรียน พจนานุกรม แถบบันทึกเสียง วีดิทัศน์ ตลอดจนซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ ที่สอนภาษาหรือประกอบการเรียนภาษา เช่น แบบเรียนไวยากรณ์และคำศัพท์ที่มีคำเฉลยภายในเล่มเดียวกันสำหรับศึกษาด้วยตนเอง ชุดการเรียนภาษาอังกฤษที่อาจประกอบด้วยหนังสือแบบเรียน สมุดแบบฝึกหัด วีดิทัศน์ แถบบันทึกเสียง หรือซีดีเสียง และที่ขาดไม่ได้คือ พจนานุกรมฉบับซีดีรอมสำหรับผู้เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ซึ่งใช้ประโยชน์ได้มากมายหลายหลาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พจนานุกรม และสาระนุกรมฉบับซีดีรอม การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่ออ่านข่าว ฟังข่าว และชมข่าว จากสำนักข่าวต่างประเทศ(BBC,VOA,CNNเป็นต้น) เพื่อเขียน e-mail และเพื่อค้นคว้าหาความรู้ทั่วไป ตลอดจนตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับภาษาที่ใช้จริงจาก website ต่างๆ หลังจากมีการจัดเตรียมแล้ว ขั้นต่อไปจำเป็นต้องหากลยุทธ์ในการเรียน ผู้เรียนแต่ละคนมีกลยุทธ์เฉพาะของตัวเองแล้ว แต่กลยุทธ์ต่อไปนี้เป็นแนวทางกว้างๆ สามารถนำมาใช้เป็นกลยุทธ์เฉพาะตัวตามความเหมาะสมของแต่ละคนได้
กลยุทธ์ในการเรียนภาษามี 10 ประการ ได้แก่ ศึกษา ฝึกฝน สังเกต จดจำ เลียนแบบ ดัดแปลง วิเคราะห์ ค้นคว้า ใช้งาน และปรับปรุง กลยุทธ์แรกคือ ศึกษา ในการศึกษาภาษาอังกฤษความรู้ที่เป็นเสาหลักมี 2 ด้านคือ ศัพท์กับไวยากรณ์ เพราะความรู้ทั้งสองด้านนี้จะสามารถนำไปสู่ความเข้าใจเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวกับภาษาอังกฤษได้ นอกจากนี้ยังมีความรู้อีกสองด้านใหญ่ๆที่ไม่ควรละเลย คือ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของภาษา และความรู้เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรม เมื่อเราเข้าใจเนื้อหาและวัฒนธรรมทางภาษาแล้ว เราจะมีความเข้าใจภาษาและเกิดการเรียนรู้ได้อย่างง่ายดาย กลยุทธ์ต่อมาคือ ฝึกฝน ในการเรียนภาษาจะเรียนแต่เฉพาะทฤษฎีอย่างเดียวไม่ได้ซึ่งจะต้องมีการปฏิบัติควบคู่กันไป ซึ่งการฝึกฝนภาษาให้ได้ผล จำเป็นต้องผ่านอินทรีย์หลายทางควบคู่กัน คือตา-ดู   หู-ฟัง   ปาก-พูด   มือ เขียน   หัว-คิด   ใจ-รัก  จากการฝึกฝนในสัปดาห์ที่แล้วโดยเริ่มจากวันที่ 11 สิงหาคม พ.. 2558 ดิฉันได้เลือกเพลงที่ชอบ 2 เพลงเพื่อฝึกร้องตาม เป็นเพลงของวง One direction ได้แก่เพลง What make your beautiful และ One thing จากการฝึกฝน 1สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ดิฉันฟังเพลงทั้งสองเพลงได้อย่างเข้าใจ ได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ และได้เลียนแบบการใช้รูปประโยคจากเพลง กลยุทธ์ต่อมาคือ การสังเกต ผู้เรียนภาษาที่ดีต้องรู้จักสังเกต มีความละเอียดถี่ถ้วน รอบคอบ รู้จักสังเกตจากสิ่งที่เห็น เช่น เมื่อไปเที่ยว เห็นป้ายต่างๆ ก็จะสังเกตการใช้คำ รูปประโยค เป็นต้น กลยุทธ์ต่อมาคือ จดจำ นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าการจำไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่ในความเป็นจริง ทุกวิชาต้องอาศัยความจำ เพราะถ้าไม่สามารถจดจำสิ่งต่างๆได้ ความรู้ที่นำมาต่อยอดความคิดให้เข้าใจและเรียนรู้ได้ก็จะไม่มี กลยุทธ์ต่อมาคือ เลียนแบบ กลยุทธ์นี้จะใช้ได้กับสภาพแวดล้อมที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ เช่น ต่างประเทศ สถานที่ที่มีชาวต่างชาติจำนวนมาก เป็นต้น เพราะสถานที่เหล่านั้นเต็มไปด้วยบรรยากาศของภาษา จึงมีการเลียนแบบเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้ใช้ภาษา กลยุทธ์ต่อมา คือ ดัดแปลง เมื่อเลียนแบบแล้ว ต้องรู้จักดัดแปลง เช่น ประโยคเลียนแบบคือ I like cats. เราสามารถดัดแปลงได้ คือ I like dogs. เป็นต้น กลยุทธ์ต่อมาคือ การวิเคราะห์  เหมาะกับการเรียนในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอ่าน การเขียน และการแปลภาษาวิชาการและภาษาวิชาชีพ กลยุทธ์ต่อมา คือ ค้นคว้า  การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในปัจจุบันยังอ่อนเรื่องการค้นคว้า จึงต้องมีการค้นคว้าเพิ่มเติมโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพจนานุกรมภาษาอังกฤษล้วนสำหรับผู้เรียนภาษา กลยุทธ์ต่อมาคือ ใช้งาน เมื่อเรียนรู้ภาษาไปบ้างแล้วจะต้องใช้งานจริงในภาคสนามด้วย เพื่อทดสอบและตรวจสอบว่าความรู้และทักษะที่ได้เรียนรู้มานั้นเพียงพอหรือไม่ และกลยุทธ์สุดท้ายคือ ปรับปรุง เมื่อใช้งานจริงในภาคสนามเรียบร้อยแล้ว เราจะรู้ว่ามีความบกพร่อง ต้องแก้ไขในส่วนไหน อย่างไร กลยุทธ์ทั้งหมดที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้น มีความเกี่ยวเนื่องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อให้การเรียนรู้ภาษาอังกฤษเกิดผล จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เพราะเป็นกระบวนการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต  
ภาษาอังกฤษปัจจุบันคือภาษานานาชาติ เป็นภาษากลางของโลก ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของมนุษยชาติ เป็นภาษาที่มนุษย์บนโลกใช้ติดต่อระหว่างกันเป็นหลัก ไม่ว่าแต่ละคนจะใช้ภาษาอะไรเป็นภาษาประจำชาติ เมื่อต้องติดต่อกับคนอื่นที่ต่างภาษาต่างวัฒนธรรมกันทุกคนจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ทุกชาติทุกภาษาจึงบรรจุวิชาภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองรองลงมาจากภาษาประจำชาติ เป็นแกนหลักของหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ ซึ่งเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของภาษาในอดีตกับปัจจุบัน การศึกษาในอดีต สิ่งอำนวยความสะดวกยังมีน้อย ขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างเช่นตอนนี้ แต่กลับกลายเป็นว่าคนในอดีตเรียนภาษาอังกฤษได้ดีกว่าคนสมัยนี้ เนื่องด้วยคนในอดีตมีความมุ่งมานะ อดทน ตั้งใจใฝ่เรียน ทำให้สามารฟัง พูด ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี ดังนั้น คนในปัจจุบันจำเป็นต้องหากลยุทธ์ เคล็ดลับต่างๆในการพิชิตภาษาอังกฤษ ซึ่งกลยุทธ์นั้นจะเป็นเหมือนเครื่องชี้นำทางให้เราเรียนภาษาอังกฤษอย่างถูกต้องเมื่อเรามีวิธีเรียนอย่างถูกต้อง เราสามารถฟัง พูด อ่าน เขียน และแปลภาษาอังกฤษได้
 การศึกษาเป็นกระบวนการที่มุ่งพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพมีความสามารถเต็มศักยภาพ มีการพัฒนาที่สมดุลทั้งสติปัญญา จิตใจ ร่างกาย และสังคม เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ เนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล คนทั่วโลกต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ในการศึกษาภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่ยากและไม่ง่ายเกินไป เราต้องศึกษาเรียนรู้ ซึ่งการศึกษานี้มีสองแบบคือ ศึกษาในชั้นเรียน กับนอกชั้นเรียน
การศึกษาในปัจจุบันมีสองแบบคือ การศึกษาในชั้นเรียน กับการศึกษานอกชั้นเรียน การศึกษาในชั้นเรียนเป็นการศึกษาที่ครูป้อนให้ ส่วนการศึกษานอกชั้นเรียนเป็นการศึกษาเพิ่มเติม เช่น จากห้องสมุด ผู้รู้ เป็นต้น ในการศึกษานอกชั้นเรียนเราจะศึกษาเพิ่มเติมจากสิ่งที่เราอ่อน เช่น เราอ่อนทักษะการอ่าน เราต้องไปเลือกสื่อสำหรับการอ่านมา เช่น หานิทานสนุกๆมาอ่านเพื่อเพิ่มทักษะการอ่าน แต่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของเราด้วย หรือถ้าอ่อนทักษะการฟัง สามารถฝึกฟังได้จากการดูหนังฝรั่ง ฟังเพลงฝรั่ง เพราะการฟังเพลง ดูหนังถือเป็นกิจกรรมยามว่างที่น่าสนใจ เมื่อเราเรียนรู้เกิดความสนุก การเรียนรู้จะก็จะเกิดขึ้น ซึ่งในการที่เราจะเลือกฝึกนั้น เราต้องเข้าใจว่าเราบกพร่องในด้านใด  ในการเรียนภาษาอังกฤษนอกจากจะฝึกฝน ลงมือปฏิบัติแล้ว เราต้องมีความรู้ด้านเนื้อหาด้วยเพื่อเราสามารถเรียนภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียนและแปล
การเรียนภาษาจะแตกต่างจากการเรียนวิชาอื่นๆเป็นส่วนใหญ่ การเรียนภาษาอังกฤษจะเรียนทั้งภาคทฤษฎีและทักษะ ความรู้ที่เป็นภาคทฤษฎีที่จำเป็นในการเรียนภาษาอังกฤษมีสองส่วนคือ คำศัพท์ กับไวยากรณ์ เมื่อเรารู้คำศัพท์และเกิดความรู้ไวยากรณ์ เราสามารถนำความรู้ที่ได้มาใช้ในการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อต่อยอดไปสู่การเรียนภาษาอังกฤษในเรื่องอื่นๆได้ เนื้อหาความรู้ที่อ่านนั้นมีมาก ในการอ่านไม่ว่าอ่านอะไรก็ตามเราต้องมีการ  Summary   และ Paraphrase   Summary คือ เป็นการสรุปเรื่องราวจากการฟังหรือการอ่าน ผู้ฟังหรือผู้อ่านจะต้องจับใจความและสรุปใจความสำคัญของเรื่อง ส่วน Paraphrase   คือวิธีการเขียนเนื้อหาขึ้นมาใหม่ โดยใช้ความหมายของตนเอง ไม่เปลี่ยนความหมายของต้นฉบับ ซึ่ง Summary และ Paraphrase จะนำไปสู่การเขียน Academic Writing
การเขียนเรียงความ เป็นการนำความคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่ผู้เขียนสนใจนำมาเรียบเรียงอย่างชัดเจน ให้น่าสนใจโดยอาศัยข้อเท็จจริง ระกอบความคิดเห็นของผู้เขียนให้ผู้อ่านได้เข้าใจตามที่ผู้เขียนต้องการ ซึ่งการเขียนเรียงความมีหลายประเภท ในที่นี้จะกล่าวถึงAcademic Writing เพราะการเขียนเรียงความประเภทนี้จำเป็นมากสำหรับนักศึกษา ซึ่งเป็นการเขียนในขั้นสูง ทำให้รู้จักคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์  การเขียนเรียงความประเภทนี้ เป็นการเขียนเชิงวิชาการ ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ Introduction   Body และ Conclusion  ในแต่ละ Body ประกอบด้วย  Introduction ,Body และ Conclusion  ในแต่ละย่อหน้าเนื้อหาต้องสมดุลกัน ในส่วนของ Introduction เป็นการเข้าสู่เนื้อหา เขียนจากเรื่องกว้างๆมาสู่เรื่องแคบ และนำไปสู่ Body ในBody จะมีกี่ Body ก็ได้ ขึ้นอยู่กับจำนวนเนื้อหาของเรื่องนั้น เมื่อจบแต่ละย่อหน้า ต้องเขียนเพื่อเชื่อมโยงนำไปสู่ย่อหน้าต่อไป ในส่วน Conclusion คือ เป็นการสรุปเนื้อหาทั้งหมด จะคล้ายคลึงกับ Introduction  
ดิฉันคิดว่า การศึกษามีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ  ระบบการศึกษาในปัจจุบันมีทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน การเรียนทั้งสองลักษณะมีความแตกต่างกัน แต่การเรียนทั้งสองลักษณะเป็นการเรียนที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ในการเรียนภาษาอังกฤษจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เนื่องด้วยวิชาภาษาอังกฤษเป็นทั้งวิชาทักษะและเนื้อหา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้สูงสุดและสามารถฟัง พูด อ่าน เขียน และแปลภาษาอังกฤษได้ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น